ป้ายหินแกรนิตแกะสลักภาพพุทธประวัติโดยย่อ
และป้ายชื่อมูลนิธิฯ และพิพิธภัณฑ์

หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ จะมีภาพพุทธประวัติขนาดใหญ่ แกะสลักเป็นลายเส้นสีทองบนแผ่นแกรนิตสีดำ ภาพพุทธประวัติมีตั้งแต่แต่ประสูติ จนกระทั่งถึงปรินิพพาน
นอกจากนี้ มีป้ายชื่อมูลนิธิธรรมทานกุศลจิต และป้ายพิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา แกะสลักเป็นลายเส้นสีทองบนแผ่นแกรนิตสีดำ
บรรยากาศหน้าอาคาร จัดสวนและประดับด้วยไม้ดัด เช่น ต้นข่อยดัด เพื่อสะท้อนความสวยงามของธรรมชาติแบบเรียบง่ายของพันธุ์ไม้ไทย เป็นพันธุ์ไม้ที่อายุยืน รูปแบบไม่มีคำว่าล้าสมัยหรือสมัยใหม่ การตัดแต่งเป็นรูปแบบต่างๆ ของต้นไม้ สะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับธรรมชาติคือ ต้นไม้ สามารถให้เป็นรูปใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกแต่งดัดแปลงของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกัน ต้นไม้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะให้ดูสวยงามก็จะต้องตัดแต่งตลอดเวลา มิฉะนั้นก็จะดูรก กิ่งใบจะขึ้นไปคนละทิศละทาง จะสวยงามหรือไม่สวย จะอายุยืนหรือไม่ยืนยาวก็ตาม สิ่งที่เราจะต้องตระหนักอยู่เสมอก็คือ ต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นต้นอะไรก็ตาม ก็ต้องแก่ตายในที่สุด และถูกย่อยกลับไปสู่ธรรมชาติ เช่นเดียวกับมนุษย์ เกิดมาแล้วไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม ก็ต้องตายทุกคน กลับไปสู่ธรรมชาติ ต่างกันตรงที่ว่า ต้นไม้เป็น “สังขาร” ที่ไม่มีวิญญาณ แต่มนุษย์เป็น “สังขาร” ที่มีวิญญาณ
“สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ซึ่งเป็นตามกฏ “ไตรลักษณ์” กล่าวคือ ตามหลัก “ไตรลักษณ์” สังขารทั้งปวง (ต้นไม้ และมนุษย์) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไร้ตัว มิใช่ตน)
หลัก “ไตรลักษณ์” ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และนำมาเป็นหลักสำคัญในการสอนให้มนุษย์ได้เข้าใจธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ เป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เป็นหลักสำคัญของการเจริญวิปัสสนา ในการพิจารณาขันธ์ 5 (ชีวิต) ตามความเป็นจริงว่า “ขันธ์ 5 (ชีวิต) เป็นไตรลักษณ์”
พระพุทธเจ้าได้ทรงนำหลัก “ไตรลักษณ์” มาเป็นหลักในการสอนการปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนา เพื่อการดับทุกข์และหยุดการเวียนว่ายตายเกิด (เข้าสู่พระนิพพาน) ได้อย่างไร?
พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา วางเป้าหมายในการศึกษาพุทธศาสนาว่า “โลกียภูมิ” (ต้องเวียนว่ายตายเกิด) และ “โลกุตตรภูมิ” (สิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิด = นิพพาน) แตกต่างกันอย่างไร? พระอรหันต์ (ไม่มีการเกิดอีกแล้ว) มีจริงหรือไม่? ถ้ามีจริง พระอรหันต์มีหลักธรรมปฏิบัติเพื่อการบรรลุพระนิพพานอย่างไร?
เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ การดับทุกข์ (ดับกิเลส) โดยสิ้นเชิง โดยไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีก เข้าสู่พระนิพพาน