ภาพที่ ๖๑ พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี นำนางกษัตริย์บริวาร ไปทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุณี
ภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะสิ้นพระชนม์แล้วไม่นาน พระนางปชาบดีโคตมี พระน้านางของพระพุทธเจ้า หรือนัยหนึ่งพระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะ พร้อมด้วยนางกษัตริย์ผู้บริวาร ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่ง ขณะนั้นยังเสด็จประทับอยู่ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อทูลขอบวช พระนางทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ธรรมดาสตรีจะบวชในพระพุทธศาสนาได้ (อย่างบุรุษ) หรือไม่ พระพุทธเจ้าทรงตอบบ่ายเบี่ยงว่า อย่าได้มา ยินดีในการบวชเลย ทรงตอบอย่างนี้ถึงสามครั้ง
หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงไพศาลี พระนางปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยบริวารได้ตามเสด็จไปอีก คราวนี้ทุกนางต่างปลงผมนุ่งห่มผ้าย้อมฝาดอย่างนักบวช เข้าไปทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรง ปฏิเสธอีก พระนางจึงเข้าไปขอพึ่งพระบารมีพระอานนท์ เพื่อให้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงอนุญาต พระ อานนท์จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลขอร้องพระพุทธเจ้าให้ทรงอนุญาตให้พระนางปชาบดีโคตมีและ บริวาร ได้บวชเป็นนางภิกษุณี
พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธอยู่ถึงสามครั้ง ในที่สุดจึงทรงอนุญาตอย่างมีเงื่อนไขว่า ถ้าพระนางปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ข้อได้ ก็จะให้บวชเป็นนางภิกษุณีได้ ครุธรรม คือ หลักการเบื้องต้นสำหรับสตรีที่จะบวช เป็นนางภิกษุณี เช่นว่า สตรีบวชเป็นนางภิกษุณีแล้ว แม้จะมีพรรษาตั้งหนึ่งร้อย ก็จะต้องกราบ ไหว้พระภิกษุ ซึ่งบวชใหม่ในวันนั้น จะต้องรักษาศีล ๖ ข้อไม่ให้ขาดอยู่จนครบสองปีก่อนจึงจะบวชได้ เป็นต้น
พระนางปชาบดีโคตมีมีศรัทธาแรงกล้ามาก จึงยอมรับและได้บวชเป็นนางภิกษุณีเป็นคนแรกในศาสนา พุทธ แต่คณะสงฆ์ภิกษุณีก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะมีหลักฐานเชื่อได้ว่าสูญสิ้นไปก่อนพระพุทธเจ้านิพพานด้วยซ้ำไป เหตุผลก็เพราะบทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรง บัญญัติขึ้น เป็นดุจกำแพงล้อมนางภิกษุณีนั้น เข้มงวดกว่าฝ่ายพระภิกษุหลายเท่า จนคนไม่มีศรัทธาจริงๆ จะบวชอยู่ไม่ได้เลย
พระนางมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ดิฉันยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาว หรือ ชายหนุ่มที่ชอบแต่งกาย อาบน้ำสระเกล้าแล้ว ได้พวงอุบล พวงมะลิ หรือพวงลำดวนแล้ว พึงประคองรับด้วยมือทั้งสอง ตั้งไว้เหนือเศียรเกล้า ฉะนั้น ฯ
ครุธรรม ๘ ประการ
๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือบูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๒. ภิกษุณี ไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพนับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดย ได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมแม้นี้ ภิกษุณี ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิด ตลอดชีวิต
บาลี จุลวรรค วิ. ๗/๒๕๗/๕๑๖ เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมีและครุธรรม ๘ ประการ